ความรู้เรื่อง โรคอ้วน (OBESITY)
ความสามารถในการเก็บอาหารเป็นพลังงานสำรองเมื่ออาหารขาดแคลน หรือมีไม่สม่ำเสมอของมนุษย์ และสัตว์บางจำพวก เช่น หมีหรืออูฐนั้น เป็นประโยชน์ต่อการยังชีพ อาหารที่เก็บสำรองไว้ในร่างกายจะมีไกลโคเย็นในตับและไขมัน ไกลโคเย็นในตับร่างกายจะสามารถเก็บได้จำนวนจำกัด ส่วนไขมันนั้นสามารถเก็บได้ไม่จำกัดปริมาณ และสามารถเก็บไว้โดยไม่ต้องอาศัยน้ำ หรืออีเลคโตรไลต์ (เกลือแร่) เพื่อช่วยในการเก็บสะสมเหมือนไกลโคเย็นและโปรตีนโดยคงสภาพไขมันบริสุทธิ์ได้ นอกจากนั้นไขมัน 1 กรัม ยังให้พลังงานสูงถึง 38/KJ (9 KCAL) คนน้ำหนักปรกติอดอาหาร 100% สามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึง 2 เดือน
ในสังคมปัจจุบันการขาดแคลนอาหารหรือได้รับอาหารไม่สม่ำเสมอนั้นมีน้อยมาก บางแถบของโลกมีอาหารเหลือเฟือ กลไกการเก็บอาหารใช้เป็นพลังงานสำรองแทนที่จะเป็นประโยชน์กลับเป็นโทษคือ ทำให้เกิดโรคอ้วน
คำจำกัดความ โรคอ้วน (OBESITY) ใน ทางการแพทย์หมายถึง การเพิ่มของเนื้อเยื่อไขมันแต่ในการจะบอกว่าใครอ้วนหรือไม่ (จะได้เริ่ม
ลดน้ำหนักกัน)จะสามารถบอกได้โดยประมาณเท่านั้นไม่มีขอบเขตชัดเจน วิธีบอกง่าย ๆ คือ
1. ความสัมพันธ์ของส่วนสูงและน้ำหนัก
2. ความสัมพันธ์ของส่วนสูง, น้ำหนัก และอายุ ทั้งสองวิธีนี้ตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างต่ำ คือตัวเลขที่ออกมาว่าปกตินั้นความจริงเริ่มอ้วนแล้ว
3. ดรรชนีมวลกาย (Body Mass Index - BMI) จะเป็นค่าที่ได้จากน้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง สำหรับผู้ใหญ่ อายุ 20-29 มีค่าเฉลี่ยประมาณ 20-25 หญิงจะต่ำกว่าชายเล็กน้อยแต่ถ้าตัวเลขนี้ในนักกีฬาหรือคนที่มีมวลกล้ามเนื้อ มากจะออกมาเป็นคนอ้วน
4. วิธีวัดแบบ Anthropometry คือใช้การวัดความหนาของผิว (Skin Fold) บริเวณท้องแขนหรือสบัก (Triceps & Scapular) มาคิดร่วมกับน้ำหนักส่วนสูงและอายุ
5. ดูความอ้วนได้จากผลหารของเส้นรอบเอว กับรอบสะโพก
6. วิธีวัดที่ละเอียดและเที่ยงตรงจะเป็นวิธีใช้ในห้องทดลองหรือสถาบันคือ วิธีวัดความหนาแน่นของมวลร่างกาย (Body Density) หรือ Isotope Dilution (การเจือจางของสารไอโซโทบ)